การวิเคราะห์ปรับกลยุทธ์และวาง Concept ของ Web


อัปเดท : 5 มกราคม พ.ศ.2546 , แสดง : 20,739 , ความคิดเห็น : 1

โดยหลักการแล้ว การทำการค้าบนเว็บ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำการค้าปกติทั่วไป ที่จักต้องมีการวิเคราะห์ การวางแผนกลยุทธ์ และการวาง concept ทางการค้าและการตลาด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และเอาชนะการแข่งขันจากคู่แข่งได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้หลักการและหลักคิดในด้านการค้าทั้งแบบเก่าและใหม่นี้จะเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดการปฏิบัตินั้น การเตรียมการเพื่อเข้าสู่ระบบการค้าบนเว็บจักมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะการค้าบนระบบอินเทอร์เน็ต อาศัยเทคโนโลยี และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของวัฒนธรรม ภาษา รวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจด้วย ฉะนั้น การวิเคราะห์หาโอกาส หรือช่องว่างทางการตลาด และการวางกลยุทธ์จึงมีแบบฉบับเฉพาะตัว ดังนี้

การสำรวจและวิเคราะห์ตลาด มีขั้นตอนในการสำรวจและวิเคราะห์ง่ายๆ ดังนี้

1. ทำการสำรวจตลาดบนเว็บโดยใช้เครื่องมือค้นหา หรือที่เรียกว่า search engines ซึ่งเปรียบเสมือนสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองที่อยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต ในปัจจุบันนี้มีให้เลือกใช้ถึง 2,000 กว่าเว็บไซต์ ที่เชื่อถือได้ เช่น http://www.google.com/, http://www.infoseek.com/ , http://www.yahoo.com

2. วิธีค้นหาทำโดยใช้ key words หรือ “คำดัชนี” ที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมายทำการค้นหา (คือให้คิดว่า ถ้าผู้นำเข้าของเราจะค้นหาสินค้าของเรา เราคิดว่า เขาจะค้นหาเราโดยใช้คำๆ ใด เช่น ถ้าเราขายเฟอร์นิเจอร์ ก็ต้องถามว่า เขาจะค้นหาเราด้วยคำว่า “furniture” หรือ “steel furniture หรือไม่ เป็นต้น ในกรณีที่เราต้องการสำรวจตลาดแบบเจาะจงประเทศ ก็อาจจะค้นด้วย key words ที่เป็นวลีได้ เช่น furniture importer in THAI ) เมื่อผลออกมาแล้วเราก็ต้องตรวจสอบดูว่า คู่แข่งที่ปรากฏขึ้นมากี่ราย? หรือ “ว่าที่คู่ค้า” (Prospective) หรือ “ผู้นำเข้า” หรือ “ผู้จัดจำหน่าย” (Distributor) ปรากฏขึ้นมากี่ราย?

  
 


3. จุดนี้ ถ้าสังเกตให้ดี เราจะพบว่า ทุกเว็บไซต์ที่อยู่ในสายอุตสาหกรรมเดียวกับเราที่ปรากฎออกมาจากผลการค้นหานั้น ไม่ใช่ทุกเว็บไซต์ที่เป็นคู่แข่ง แต่ให้สังเกตจากประเทศที่ตั้งของเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้น และเปรียบเทียบกับสินค้าที่เขาขายอยู่บนเว็บไซต์ เช่น หากเขาขายเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยางพารา แล้วมีบริษัทตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีทางที่จะผลิตเอง ยกเว้นแต่จะนำเข้าไปขายเท่านั้น

4. ในบางกรณีเราอาจจะหาชื่อที่อยู่ของเว็บไซต์ไม่พบ ก็สามารถค้นหาจากทะเบียนผู้จดชื่อ

5. โดเมนนั้นๆ โดยดูจากข้อมูลของ Registrant โดยสามารถดูได้ที่ http://www.thnic.net/ ทดลองค้นชื่อเว็บไซต์นั้นดู แล้วระบบจะรายงานไว้ตอนท้ายหน้าของผลการค้นว่า ใครเป็นคนจดชื่อนี้ไป (ดูจาก Who’s taken)

6. เมื่อได้รายชื่อเว็บไซต์ของคู่แข่ง และว่าที่คู่ค้าออกมาแล้ว ให้สำรวจดู 30-50 อันดับแรก โดยเปิดเข้าไปเยี่ยมชม แล้วทำการวิเคราะห์ให้ได้ว่าการนำเสนอ ตั้งแต่หน้าแรก ไปจนถึงหน้ารายการสินค้า นั้นมีจุดประสงค์อะไร และจัดหัวข้อต่างๆ ในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นกลยุทธ์การตลาดของคู่แข่ง ว่า ทำการค้าแบบ B-to-B, E-X-Commerce หรือแบบผสมกับ B-to-C ?

7. วิธีวิเคราะห์กลยุทธ์ของคู่แข่ง และว่าที่คู่ค้าแบบง่ายๆ แต่ได้ผลวิธีหนึ่ง ก็คือ การค้นหาการเชื่อม Link ของเว็บไซต์นั้น ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำได้โดยการใส่ชื่อของเว็บไซต์นั้นลงไปในช่องค้นหาของ Search Engines เพื่อทำการค้นหา ซึ่งผลที่ได้มันจะเผยให้เห็นว่า เว็บไซต์นั้นเชื่อม Link อยู่กับใครบ้าง ซึ่งนั่นหมายถึง การพยายามไปแลก Link และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของเว็บไซต์นั้น อันเป็นการสะท้อนให้เห็นช่องทางการขาย และกลุ่มเป้าหมายที่คู่แข่งและว่าที่คู่ค้าพยายามจะเจาะเข้าไปด้วย

8. สำรวจดูจำนวนผู้เยี่ยมชม หากไม่ปรากฏเห็น counter หรือ ตัวนับ ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก หรืออาจจะเป็นรายใหญ่ที่จะซ่อนตัวนับไว้เพื่อจุดประสงค์อื่น

9. ให้เฝ้าดูอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เยี่ยมชมติดต่อกันอย่างน้อย 30 วัน เพื่อหาค่าสถิติ ในขณะเดียวกันก็เป็นการดูความเคลื่อนไหวในวงการ และการทำกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดว่าเป็นอย่างไร

10. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของคู่แข่ง และว่าที่คู่ค้า รวมทั้ง 4 Ps (Product, Price, Place และ Promotion) โดยเฉพาะลักษณะสินค้าและราคาว่ามีจุดอ่อนมากน้อยเพียงใด

11. นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ในจุดที่เราจะได้เปรียบคู่แข่ง โดยต้องสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถใช้จุดแข็งของเราได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสินค้าที่ “ว่าที่คู่ค้า” เสนอขายอยู่บนเว็บไซต์ได้

12. ต้องเฝ้าสำรวจตลาดบนเว็บอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพราะสภาพของตลาดบนเว็บมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ทั้งนี้เพราะมีการแข่งขันด้านการตลาดที่รุนแรง

โดยสรุปแล้ว ผลที่ได้จากการสำรวจข้างต้นนี้ จักทำให้เราทราบว่า คู่แข่งคือใคร? ใช้กลยุทธ์ใด? มีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร? และเรายังมีโอกาสทางการตลาดใด เหลืออยู่บ้าง? รวมทั้งได้ทราบว่า มี “ว่าที่คู่ค้า” อยู่ในตลาดนั้นๆ กี่ราย และปัจจุบันขายสินค้าของคู่แข่งรายใดอยู่ และขายสินค้าในรูปแบบใด ซึ่งการสำรวจเว็บไซต์หลายๆ แห่งประกอบกัน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับที่ตั้งของเมือง หรือประเทศ ก็จะทำให้เรามองเห็นภาพของการแข่งขัน และความต้องการของตลาดนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ เราสามารถจักนำมาวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดของเรา เพื่อแทรกตัวเข้าทำตลาดได้


ผู้เขียน/อ้างอิง : n/a

เอ็มไอเอส/อีบิสสิเนส

ความคิดเห็น/แนะนำ/ติชม/อื่นๆ

  • fitta [21 พ.ค. 2554 , 04:18 PM]

    ขอบคุณครับ