เคล็ดลับการเกาะติดและวิเคราะห์จุดอ่อนคู่แข่งบนเว็บ
อัปเดท : 2 พฤษภาคม พ.ศ.2546 , แสดง : 18,841 , ความคิดเห็น : 1
การติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งบนเว็บอยู่เป็นประจำถือว่ามีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพราะการแข่งขันบนเว็บเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของคู่แข่ง จึงสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายกำลังจะเปลี่ยนไปหรือไม่ วิธีการติดตามและวิเคราะห์คู่แข่งในเชิงกลยุทธ์สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดให้ชัดเจนว่าใครคือคู่แข่งโดยตรง? ใครคือคู่แข่งโดยอ้อม หรือขายสินค้าที่ทดแทนได้
2. ตามย้อนรอยให้ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของคู่แข่งคือใคร? เพื่อการติดตามที่มีประสิทธิภาพ
3. ประเมินเป้าหมาย และแนวทางที่แท้จริงของคู่แข่ง เพื่อคาดการณ์ทิศทางการปรับตัวของคู่แข่งล่วงหน้า
4. กำหนดเวลาในการเฝ้าติดตาม เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน แล้วแต่ความรุนแรงของการแข่งขัน
5. ทดลองเป็นลูกค้าในบางครั้ง หรือประจำ เพื่อเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงภายในได้
6. ติดตามที่ตัวสินค้า และราคาเป็นหลัก ดูความถี่ในการเปลี่ยนรุ่นสินค้า และราคา
7. ดูความถี่ในการปรับปรุงข้อมูล ว่าบ่อยหรือไม่เพียงใด? และมีรอบเวลาแน่นอนหรือไม่?
8. ดูการปรับโครงสร้างเมนูโดยรวม ว่า มีการปรับปรุงโครงสร้างเว็บหรือไม่ ถ้ามีในรอบเวลาที่ผิดปกติแสดงว่า มีการวางแนวทางที่ผิดพลาด หรือปรับตัวตามกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป
9. ดูความเคลื่อนไหวใน FAQ เพราะการเพิ่มเติมในส่วนนี้จะแสดงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ถามมาที่เว็บไซต์คู่แข่งได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นจะสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของคู่แข่ง
10. ประเมินการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ดูได้จากตัวที่สินค้า และราคาที่เปลี่ยนแปลงรวมทั้งรายการส่งเสริมการขายที่ทำขึ้นเป็นระยะๆ ด้วย
11. ประเมินความรู้สึกของลูกค้าต่อคู่แข่ง อาจจะวัดจากลูกค้าในฝั่งของเราเป็นหลัก โดยการทำแบบสอบถาม
12. ประเมินความเร็วในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ให้บันทึกความถี่ของการปรับตัวทั้งเล็กน้อยและขนานใหญ่ของเว็บไซต์คู่แข่งไว้โดยตลอด
วิธีคิดเพื่อหา “โอกาส” ค้าบนเว็บ
ต่อไปนี้เป็น “วิธีคิด” หรือ “หลักการคิด” เพื่อมองหาโอกาสและช่องทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจบนเว็บ (นอกเหนือจากการสำรวจตลาดบนเว็บทั่วไป)
1. มองย้อนจากธุรกิจปกติ
พิจารณาจากขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ เช่น ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การสำรวจตลาดหาโอกาสทางธุรกิจ การระดมทุน การกู้เงินเพื่อก่อตั้งโรงงาน การพัฒนาสินค้าใหม่ การซื้อหาเครื่องจักร การผลิตซึ่งต้องหาวัตถุดิบ การขนส่ง การเสนอขายสินค้า การชำระเงิน การส่งสินค้า การเงิน การบัญชี และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งแต่ละขั้น สามารถที่จะนำอินเทอร์เน็ต หรือการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทดแทนหรืออำนวยความสะดวกได้ ซึ่งนั่นคือ โอกาสธุรกิจที่ยังเหลืออยู่อีกมาก วิเคราะห์ดูจากตลอดสายของธุรกิจเช่นนี้ แล้วท่านจะมองเห็นโอกาสมากมายทีเดียว
2. ต่อยอดจากธุรกิจบนเว็บที่ทำอยู่แล้ว
ถ้าขี้เกียจหาความคิดใหม่ ก็สามารถหาโอกาสได้โดยการคิดในแนวลึก หรือต่อยอดจากความคิดที่บุคคลอื่นใช้ทำมาหากินบนเว็บอยู่แล้ว เช่น อาจจะหาวิธีทำให้ลดขั้นตอนลง หรืออาจจะทำให้เร็วขึ้น หรือต่อเนื่องขึ้น หรือกลายเป็นระบบอัตโนมัติ หรือให้รายละเอียดที่มากขึ้น เป็นต้น วิธีนี้ดีตรงที่ว่า ไอเดียธุรกิจเหล่านั้นได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า มีความเป็นไปได้ในการสร้างรายได้ แต่อย่างไรก็ต้องระวังว่า เรามีจุดแข็งครบถ้วน หรือมากกว่าผู้ที่ทำอยู่ก่อนแล้วหรือไม่? เพราะการจะทำธุรกิจเหล่านั้นให้ได้ดี ตัวเราเองก็ต้องมีคุณสมบัติเทียบเคียบหรือเหนือกว่าผู้ที่ทำอยู่ก่อนแล้วด้วย
3. มองแนวกว้างหาธุรกิจใหม่
วิธีง่ายๆ ก็คือ ให้พิจารณาตามประเภทของสินค้า หรือบริการที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมด ค่อยๆ คิดจาก สินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงที่ติดต่อค้าขายอยู่ในระดับบริษัทใหญ่ เช่น สินค้าเกษตรมีคนทำหรือไม่? สินค้าข้าวอย่างเดียวมีคนทำหรือไม่? สินค้าเห็ดอย่างเดียวมีคนทำหรือไม่? สินค้าไม้ยางอย่างเดียวมีคนทำหรือไม่? สินค้าที่เป็นซัพพลายของโรงแรม หรือโรงงาน หรือบริษัททั่วไปอย่างเดียวมีคนทำหรือไม่? หากมีก็อาจจะพิจารณาต่อว่า พวกเขาเหล่านั้น(ที่ทำอยู่ก่อนแล้ว)ทำได้ดีแค่ไหน? และมีช่องว่างที่เราจะแทรกตัวเข้าไปได้หรือไม่? (อย่างหลังนี้คือ การพิจารณาในแนวลึก)
4. เป็นตัวแทนของผู้ที่เป็นรายใหญ่ หรือทำธุรกิจบนเว็บมาก่อน
การเป็นตัวแทนของรายใหญ่ที่มีธุรกิจอยู่บนเว็บอยู่แล้วเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำธุรกิจได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องลงแรงมาก ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราเปิดร้านขายสินค้าภายใต้ตราของ 7-11 หรือ Family Mart ซึ่งเขาหาสินค้าเข้ามาวางขายให้เสร็จสรรพ แต่เราต้องลงทุนตึกแถวหรือหาทำเลเอง แต่ในกรณีนี้เราเป็นผู้นำสินค้าของเขามาวางขายในเว็บไซต์ของเรา หากเราขยันเชียร์และขยันจัดรูปแบบการนำเสนอที่ดี ก็ทำให้ได้กำไรเช่นกัน และเผลอๆ ได้มากกว่าทำร้านจริงด้วยซ้ำ เพราะการค้าบนเว็บลงทุนต่ำกว่า อาทิเช่น การเป็นตัวแทนขายหนังสือให้ www.amazon.com เป็นต้น การทำธุรกิจแบบนี้ไปสักระยะหนึ่ง ภายหลังจะได้ไอเดียต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ ในการทำธุรกิจบนเว็บเองโดยอัตโนมัติ
5. ซื้อมา-ขายไป สินค้าจากแหล่งค้าบนเว็บที่บุคคลอื่นไม่รู้
เป็นการนำสินค้าจากอีกแหล่งหนึ่งที่เราทราบว่ามีราคาถูกมากๆ มาขึ้นขาย ซึ่งแหล่งที่ว่านั้นคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด เราอาจจะหาจากบนเว็บก็ได้ หรือจากแหล่งจริงนอกเว็บที่เรารู้จักก็ได้ หรือบางเว็บไซต์ก็มีการจัดสรรของพวกนี้ให้แก่เว็บไซต์ที่ต้องการขายของประเภทนี้โดยเฉพาะแต่เขาจะขายให้ท่านก็เฉพาะกรณีที่ท่านซื้อจำนวนมากเท่านั้น คือ หากเดือนหนึ่งท่านขายได้ถึงจำนวนที่เขาระบุก็จะมีส่วนลดพิเศษให้ และเว็บไซต์เหล่านี้อาจจะบริการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของท่านโดยตรงเลยก็ได้
6. ให้บริการที่สนองความสะดวกสบาย
กรณีนี้อาศัยจุดที่ว่า ลูกค้าทราบว่าจะไปซื้อหรือใช้บริการที่ใด แต่การไปใช้บริการนั้น อาจจะยุ่งยาก และมีความเสี่ยง เช่น การเช่าโฮสต์ รู้ว่าในต่างประเทศราคาถูกกว่าในประเทศไทย แต่ก็ไม่กล้าไปเช่าโดยตรง เพราะหากเกิดปัญหาแล้วติดต่อไม่ได้ สู้เช่าผ่านตัวแทนในประเทศไทยไม่ได้ เพราะยังสามารถเจรจาหรือขอการสนับสนุนทางเทคนิคได้หากเกิดปัญหา เป็นต้น หลักการนี้ไม่แตกต่างอะไรจากบรรดาตัวแทนหรือโบรเกอร์ที่เก็บค่าน้ำค่าไฟฟ้าที่เราเห็นอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ที่อาศัยว่า คนไม่มีเวลาไปจ่ายเองโดยตรง
7. มองไปข้างหน้า หาแนวโน้มใหม่ในอนาคต
ถ้าหาสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นการมองไกลไปในอนาคตข้างหน้าว่า จะมีความต้องการใดเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งความต้องการนั้นอาจจะเกิดจากแรงผลักดันจากความต้องการในปัจจุบัน ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเป็นไปในการขยายการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการได้มากขึ้น หรือหาวิธีใหม่เพื่อลดขั้นตอนให้สะดวกสบายมากขึ้น เช่น ต้องการสายเคเบิลที่มีอัตราส่งข้อมูลมากขึ้น ต้องการโมเด็มที่เร็วขึ้น ต้องการหน่วยความจำพิเศษในการเก็บแบ็คอัพข้อมูลออนไลน์ที่มีอยู่จำนวนมาก (เพราะหากพิมพ์ออกมาเป็นการดาษจะเยอะมาก) เป็นต้น ช่องทางเหล่านี้ท่านจะมองเห็นถ้าเพียงติดตามข้อมูลข่าวสารและคลุกคลีอยู่กับมัน หรือขยันติดตามความเคลื่อนไหวหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ
8. สร้างจินตนาการ
การหาโอกาสด้วยการจินตนาการไปในอนาคตข้างหน้านี้ ก็คล้ายๆ กับวิธีก่อนหน้านี้ ซึ่งใครจะทำได้ดีและใกล้เคียงกับความต้องการของตลาดได้มากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ที่ได้สั่งสมมา แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะนั่งคิดแบบหลุดโลกไปเลยก็ได้ โดยคิดหลายๆ รูปแบบ ด้วยการตั้งคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถ้าเกิดอย่างนี้….. คนจะต้องการอะไร ? ” ก็ให้ถาม “ถ้า…..” อย่างนี้เยอะๆ แล้วก็ตอบเองให้ได้ว่า คนจะต้องการอะไร? แล้วสุดท้ายเราก็จะพบช่องทางเองว่า ควรจะทำมาหากินอะไรบนเว็บ แต่ต้องระวังไว้ว่า จินตนาการที่จะสร้างเป็นจริงบนเว็บนี้จะต้องสื่อให้คนเข้าใจง่าย ไม่ต้องให้ความรู้แก่ตลาดนานเกินไป เพราะความต้องการหรือเทคโนโลยีอาจจะเปลี่ยนแปลงก่อนที่เราจะทำให้ตลาดเข้าใจสิ่งที่เราพยายามนำเสนอได้สำเร็จ
9. สร้างตลาดและกฎเกณฑ์ใหม่
เป็นการคิดนอกกรอบไปเลย โดยอาศัยหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นตัวตั้งแล้วทำตัวประเภทเป็น “ผู้แหกกฎ” เลย เช่น อีเมล์ต้องมีนามสกุลต่อไปเราไม่ใส่ได้หรือไม่? หรือชื่อโดเมนมีนามสกุลใหม่ๆ ที่เราตั้งเองได้หรือไม่? หรือใช้สายไฟฟ้าส่งข้อมูลแทนสายโทรศัพท์ได้หรือไม่? แค่สายไฟฟ้าเสียบปลั๊กไฟของโมเด็มก็ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้แล้วหรือไม่? หรือตั้งตลาดหุ้นเองบนอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่? โดยไม่ต้องให้ใครควบคุมเลย!! เป็นต้น จุดหลักของการคิดวิธีนี้ อาศัยกฎเกณฑ์ที่มีอยู่จริง แล้วเราก็ทำตัวให้ตรงกันข้ามกับชาวบ้าน
ทั้งหมดนี้คือ “วิธีคิด” ที่จะทำให้เราค้นพบช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ บนเว็บ หรือนอกเว็บก็ได้ หากคิดตามหลักการข้างต้นนี้รับรองได้ว่า “ไม่มีจนตรอก แน่นอน” แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อแม้ว่า ท่านจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจระบบค้าขาย หรือความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมาแล้วระดับหนึ่ง ยิ่งรู้มาก ใช้งานมาก โอกาสมองเห็นช่องทางทำธุรกิจยิ่งมาก !
ผู้เขียน/อ้างอิง : n/a
เอ็มไอเอส/อีบิสสิเนส
Paypal Inc. (www.paypal.com) เป็น (C-to-C Payment) หรือระหว่างบุคคลกับบุคคล (P-to-P Payment) ที่ใหญ่ที่สุดใน
Amazon.com, Inc (www.amazon.com) เป็นร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 1995
เผยโฉม 10 กลโกงทางอินเทอร์เน็ต (Internet Fraud) ลักษณะและวิธีการป้องกัน
กระบวนการที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะมอบหมายการบริหาร
การทำการค้าบนเว็บ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำการค้าปกติทั่วไป
เมื่อการแข่งขันบนเว็บเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก
ะเลือกค้าแบบ Business-to-Consumer (B-to-C) หรือ Business-to-Business (B-to-B) ดี?
ศาสตร์แขนงหนึ่งทาง AI (Artificial Intelligence)
วัฒนธรรมองค์การ กับ ลิง
ความคิดเห็น/แนะนำ/ติชม/อื่นๆ
- มนัญชยา อินต๊ะชมภู [30 มิ.ย. 2549 , 10:31 PM]
ดิฉันอยากทราบรายละเอียดการเสนอขายสินค้าแบบง่ายๆ และอยากได้แบบฟอร์มการเสนอขายค่ะ เพราะต้องการทำรายงานส่งอาจารย์ค่ะ